วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน

จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน
คือการเห็นจิตในจิต หรือสติระลึกรู้เท่าทันหรือพิจารณาจิต (จิตตสังขารหรือมโนสังขารเช่นความคิด,ความนึก คือธรรมารมณ์ต่างๆ) รวมทั้งอาการของจิตหรือกริยาของจิต(เจตสิก) เช่นราคะ, โทสะ,โมหะ, ฟุ้งซ่าน ฯ. ที่เกิดเศร้าหมองหรือผ่องแผ้วเป็นอารมณ์ คือ มีสติรู้จิตตสังขารตามสภาพเป็นจริงที่เป็นอยู่ในขณะนั้นๆ(เห็นจิตในจิต)เช่น จิตมีราคะ โทสะ โมหะ ก็รู้ว่าจิตมี, จิตปราศจากราคะ โทสะ โมหะก็รู้ว่าปราศจากราคะ โทสะ โมหะ, จิตหดหู่ก็รู้ชัดว่าหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่านก็รู้ชัดว่าจิตฟุ้งซ่าน ทั้งของตนเองและของบุคคลอื่น อันเพื่อเป็นเครื่องรู้ เครื่องระลึก เครื่องเตือนสติ และเห็นการเกิดๆดับๆว่าเป็นไปตามธรรมคือสภาวธรรมหรือธรรมชาติ ล้วนไม่เที่ยงของจิตตสังขารดังกล่าว เห็นจิตในจิต หรือ จิตเห็นจิต ถ้าเข้าใจขันธ์ ๕ จักเข้าใจได้ว่าหมายถึงการมีสติเห็นจิตตสังขารที่ บังเกิดขึ้น(จิตสังขารหรือมโนสังขารหรือความคิดในขันธ์๕นั่นเอง ล้วนเป็นสิ่งเดียวกัน) อันมีตามที่ท่านตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตรดังนี้ คือมี
......จิตมีราคะ เป็นเจตสิก คืออาการของจิตที่ประกอบด้วยราคะ กล่าวคือกลุ่มของความคิดฟุ้งซ่านหรือปรุงแต่ง ที่ประกอบด้วยความกำหนัดความปรารถนาในกามทั้ง๕ นั่นเอง
......จิตมีโทสะ เป็นเจตสิก คืออาการของจิตที่ประกอบด้วยโทสะ กล่าวคือกลุ่มของความคิดนึกหรือฟุ้งซ่านที่ประกอบด้วยความโกรธความขุ่นเคือง นั่นเอง
......จิตมีโมหะ เป็นเจตสิก คืออาการของจิตที่ประกอบด้วยโมหะความหลง หรือกลุ่มของความคิดนึกหรือฟุ้งซ่านที่ประกอบด้วยความไม่รู้จริง นั่นเอง
......จิตหดหู่ ก็เป็นเจตสิกในข้อที่ ๒๕ ในเจตสิก ๕๒ เป็นกลุ่มอาการของความคิดนึกหรือฟุ้งซ่านปรุงแต่งที่ทำให้เกิดความหดหู่ใจ ใจหดห่อ แห้งเหี่ยวใจ
......จิตฟุ้งซ่าน เป็นอาการของจิตอย่างหนึ่ง ที่เรียกอุทธัจจะในข้อที่ ๑๗ ในเจตสิก ๕๒ เป็นอาการของจิตที่ฟุ้งซ่านหรือปรุงแต่งไปในสิ่งหรือเรื่องต่างๆ
......จิตเป็นฌานหรือมหรคต จิตเป็นฌาณ, จิตอยู่ในกำลังฌาน, จิตประกอบด้วยกำลังของฌานอยู่
......จิตเป็นสมาธิ จิตมีความตั้งใจมั่นในสิ่งใดอยู่
......จิตมีสิ่งอื่นยิ่งกว่า หมายถึงอาการของจิตเป็นเอกหรือเป็นใหญ่อยู่ในสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ เช่นจิตเป็นเอกอยู่กับการคำบริกรรมพุทโธ หรือจิตเป็นเอกอยู่ในกิจหรืองานใดๆ, หรือจิตเป็นเอกในธรรมที่เป็นเครื่องอยู่เครื่องพิจารณา, หรือจิตหมกมุ่นจดใจจ่อในสิ่งใดอยู่
......จิตวิมุตติหรือจิตหลุดพ้น หมายถึงอาการที่จิตหลุดพ้นจากกิเลสหรือเจตสิกต่างๆดังที่กล่าว
กล่าวคือ ล้วนมีสติระลึกรู้เท่าทัน กล่าวคือมีสติระลึกรู้ "จิตหรืออาการของจิตคือเจตสิกที่บังเกิดขึ้น ณ ขณะจิตนั้นๆ"
อนึ่งอาการของจิตทั้งหลายหรือเจตสิก ดังเช่น ราคะ โทสะ โมหะ จิตฟุ้งซ่าน ฯลฯ. นั้นมันไม่มีอาการเป็นรูปธรรมแท้จริง แต่มันอาศัยแฝงอยู่กับสังขารขันธ์คือการกระทำต่างๆนั่นเอง ดังเช่น ความคิด(มโนสังขาร)ที่ประกอบด้วยราคะ, การทำร้ายผู้อื่นทางกาย(กายสังขาร)ที่ประกอบด้วยโทสะ, การคิดด่าทอ,ต่อว่า(วจีสังขาร)ที่ประกอบด้วยโมหะคืออาการหลงไปปรุงจนเกิดทุกข์ที่ประกอบด้วยความไม่รู้ตามความเป็นจริง เช่นคิดหรือธรรมารมณ์กระทบใจแล้วจะให้รู้สึกเฉยๆ, การเกี้ยวพาราสีทั้งด้วยคำพูดทั้งกริยาท่าทางที่ประกอบด้วยราคะ, จิตคิดฟุ้งซ่านหรือคิดวนเวียนไม่หยุดหย่อนในเรื่องไร้แก่นสาร เช่นคิดไปในอดีต อนาคต ก็คือความคิดที่ประกอบด้วยจิตฟุ้งซ่านนั่นเอง
ใช้วิธีมีสติรู้เท่าทันเวทนาและจิต เป็นหลักปฏิบัติประจําเมื่อปฏิบัติจนชํานาญแล้ว และเห็นเวทนาในเวทนา(เวทนานุปัสสนา) เข้าใจถึงใจ และเข้าใจปฏิจจสมุปบาทดีแล้ว จิตจักรู้สภาพจิตสังขารหรืออาการของจิต(เจตสิก)ที่เกิดขึ้น คือ เห็น ตัณหา ราคะ โมหะ โทสะ ชัดเจนขึ้น เมื่อจิตเห็นจิต หรือเห็นจิตในจิต เช่นนี้เรื่อยๆ จิตจะเห็นความคิดอารมณ์ที่ เกิดๆ ดับๆ อยู่ตลอดเวลาว่าเป็นสภาวธรรมอันไม่เที่ยง ไม่มีแก่นแกนหรือแก่นสาร และก่อให้เกิดทุกข์อย่างชัดแจ้ง อันทําให้รู้เห็นตามความเป็นจริงในสภาวธรรม จิตจักได้คลายความยึดมั่นถือมั่นในเวทนาและจิตที่ไม่เที่ยง คงทนอยู่ไม่ได้จึงเป็นทุกข์ และอนัตตา อันก่อให้เกิดทุกข์ กล่าวคือ เห็นความคิด(จิตหรือจิตตสังขารนั่นเอง) และการเสวยอารมณ์ต่างๆ(เวทนา) ว่าเป็นไปตามไตรลักษณ์ ดังนั้นเมื่อไปอยากด้วยตัณหาจึงย่อมเกิดการยึดด้วยอุปาทานเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง ดังนั้นเมื่อไปอยากหรือไปยึดไว้ด้วยเหตุผลกลใดก็ดี เมื่อมีการแปรปรวนด้วยอนิจจังหรือดับไปด้วยทุกขังเพราะสภาวธรรมจึงไม่เป็นไปตามปรารถนาจึงเป็นทุกข์อุปาทานอันเร่าร้อนเผาลนขึ้นนั่นเอง
ในทางปฏิบัติของการ เห็นจิตในจิต คือสติเห็นจิตสังขาร(เช่นความคิด)ที่เกิดขึ้นว่า สักแต่ว่าจิตสังขารตามที่พิจารณาอยู่เนืองๆ แล้วอุเบกขาไม่เอนเอียงไปแทรกแซงด้วยถ้อยคิดปรุงแต่ง หรือกริยาจิตใดๆ ดังการคิดเรื่อยเปื่อยหรือฟุ้งซ่านจึงย่อมยังให้เกิดเวทนาอื่นๆที่อาจเป็นปัจจัยจึงมีตัณหาเกิดขึ้น จึงทําให้เกิดทุกข์อุปาทานอันเร่าร้อน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น