วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งเก้าบรรพ

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งเก้าบรรพ 

เมื่อจะพูดถึงเรื่องเวทนาก็จะต้องพูดเรื่องของจิตด้วย กล่าวคือจิตทำหน้าที่น้อมไปสู่อารมณ์ต่างๆ จึงมีชื่อทางบาลีในที่มากแห่งว่า "สังขาร" ส่วนเวทนา ก็ทำหน้าที่รับอารมณ์และเสวยอารมณ์ที่จิตคิดหรือน้อมไปหา และภายในจิตก็มี"วิญญาณ" ทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ และภายในเวทนาก็มี"สัญญา" ทำหน้าที่รวบรวมจดจำอารมณ์ ธรรมชาติ ๔ อย่างนี้ ทำหน้าที่สัมพันธ์กันหมด ประดุจข่ายของใยแมงมุม

พิจารณาขันธ์ ส่วนเห็น จำ คิด รู้

รวม ใจของทุกกายให้หยุดอยู่ ณ ศูนย์กลางกายพระอรหัตละเอียด แล้วหยุดนิ่งไปที่ศูนย์กลางดวงธรรมกายมนุษย์ ตรงกลางดวงกำเนิดเดิมนั้นก็จะเห็นดวงกลมใสๆ ซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ ตั้งอยู่ในใจนั้นแหละ คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆข้างใน ใสละเอียดกว่ากันตามลำเอียด เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ซึ่งเป็นธาตุละเอียดนี้เองที่ขยายส่วนหยาบออกมาเป็น ดวงเห็น ดวงจำ ดวงคิด ดวงรู้ เป็นการทำงานระดับนามธรรม

ดวงเห็น มีขนาดเท่ากับเบ้าตาของกาย ธาตุเห็นอยู่ในท่ามกลางดวงเห็น มีหน้าที่รับอารมณ์ หรือเสวยอารมณ์

ดวงจำ มีขนาดเท่ากับดวงตาของกาย ธาตุจำอยู่ในท่ามกลางดวงจำ มีหน้าที่รวบรวมและจดจำอารมณ์

ดวงคิด มีขนาดเท่ากับตาดำ ธาตุคิดอยู่ในท่ามกลางดวงคิด มีหน้าที่คิด หรือน้อมเข้าสู่อารมณ์ ไม่ว่าจะอยู่ไกลแสนไกล ก็ไปถึงได้

ดวงรู้ มีขนาดเท่ากับแววตาดำข้างใน ธาตุรู้อยู่ในท่ามกลางดวงรู้ มีหน้าที่รู้หรือรับรู้อารมณ์

เห็น จำ คิด รู้ สี่อย่างนี้ที่รวมเรียกว่า "ใจ" เมื่อรวมหยุดเป็นจุดเดียว เรียกว่า เอกัคตารมณ์ หรือ ใจมีอารมณ์เป็นหนึ่ง

พึงพิจารณาต่อไปให้ถี่ถ้วน ก็จะเห็นว่า ในเบญจขันธ์ ก็มีเห็น จำ คิด รู้ ทั้งสี่อย่างนี้เจืออยู่ด้วยหมดทุกกอง

และก็ เห็น จำ คิด รู้ นี้เอง ที่ขยายส่วนหยาบออกมาอีก เป็น กาย ใจ จิต วิญญาณ ของมนุษย์หรือสัตว์ทั้งหลาย

อัน ดวงคิด หรือ จิต นั้น ลอยอยู่ในเบาะน้ำเลี้ยงหัวใจ(ไม่ใช่มังสหทัยหรือหัวใจเนื้อ) อันใสบริสุทธิ์ มีประมาณเท่าหนึ่งซองมือของผู้เป็นเจ้าของ และจิตนี้ โดยสภาพเดิมของมันแล้ว เป็นธรรมชาติอันประภัสสร จึงชื่อว่า "ปัณฑระ" แต่เนื่องจากจิตมักตกในอารมณ์ที่น่าใคร่ และมักน้อมไปสู่อารมณ์ภายนอกอยู่เสมอ จึงเปิดช่องทางให้อุปกิเลสจรมาทำให้จิตใจเศร้าหมอง ขุ่นมัว สีน้ำเลี้ยงของจิตจึงเปลี่ยนสีไปตามสภาพของกิเลสแต่ละประเภทที่จรเข้ามา เป็นต้นว่า เมื่อจิตระคนด้วยโลภะหรือราคะก็จะเป็นสีชมพู เกือบแดง,  เมื่อจิตระคนด้วยโทสะ ก็จะมีสีเกือบดำ, ถ้าจิตระคนด้วยโมหะ ก็จะมีสีขุ่นๆเทาๆ ขึ้นอยู่กับสภาพของอุปกิเลสว่าหนักเบาเพียงใด

นอกจากนี้ อาการลอยตัวของจิตในเบาะน้ำเลี้ยง ก็บอกอาการของจิต กล่าวคือ ถ้า จิตลอยอยู่เหนือระดับน้ำเลี้ยงหทัยมาก แสดงว่า ฟุ้งซ่าน, ถ้าลอยอยู่เหนือน้ำเลี้ยงเล็กน้อย ก็เป็นสภาพธรรมดา, ถ้าลอยปริ่มพอดีกับระดับน้ำเลี้ยง ก็อยู่ในเอกัคคตารมณ์, ถ้าจมลงไปมาก ก็หลับไปเลย เป็นต้น

"จิต"เป็น ธรรมชาติอันรู้ได้เห็นได้ แต่มิใช่เห็นด้วยมังสจักษุหรือตาเนื้อ หากแต่เป็นทิพยจักษุหรือตาละเอียด อันเป็นผลการเจริญสมถภาวนาอันถูกส่วน


การพิจารณาอายตนะ ๑๒ และธาตุ ๑๘

เดิน สมาบัติอนุโลม-ปฏิโลม จนจิตอิ่มเอิบแจ่มใสดีแล้ว รวมใจของทุกกายให้หยุดอยู่  ศูนย์กลางกายพระอรหัตละเอียด แล้วก็ขอให้ใจของธรรมกายพระอรหัตละเอียดเพ่งลงไปที่ศูนย์กลางดวงธรรมกาย มนุษย์ ให้เห็นขันธ์ ๕ ส่วนละเอียด ทีนี้ให้เพ่งลงไปที่กลางวิญาณขันธ์ ซึ่งเป็นขันธ์ที่ละเอียดที่สุด ก็จะเห็นธาตุธรรมส่วนละเอียดของอายตนะทั้ง ๑๒ ซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ เข้าไปข้างใน คือ อายตนะ ตา,หู,จมูก,ลิ้น,กาย,ใจ นี้เป็นธาตุธรรมละเอียดของอายตนะภายใน ๖ กลางอายตนะภายใน ๖ ก็ยังมีธาตุธรรมละเอียดที่ทำหน้าที่เป็นอายตนะภายนอกอีก ๖ คือ รูป,เสียง,กลิ่น,รส,สัมผัส,อารมณ์ทางใจ อายตนะทั้ง ๑๒

บาลีว่า "สฬายตนะ" สัณฐานเป็นดวงกลมใสดวงเล็กๆ ซ้อนกันอยู่ ละเอียดกว่ากันเข้าไปตามลำดับ

ตรง กลางสฬายตนะ ที่สุดละเอียดนี้เอง ยังมีธาตุธรรมละเอียดของธาตุ ๑๘ ซ้อนอยู่อีก คือ ธาตุรับรูป,ธาตุรับเสียง,ธาตุรับกลิ่น,ธาตุรับรส,ธาตุรับสัมผัส,ธาตุรับ อารมณ์ทางใจ รวมเรียกว่าธาตุรับ ๖

ต่อไปก็จะเป็น ธาตุรูป,ธาตุเสียง,ธาตุกลิ่น,ธาตุรส,ธาตุสัมผัส,ธาตุอารมณ์ทางใจ รวมเป็นธาตุกระทบ(เร้า) ๖

ต่อ ไปอีกเป็น ธาตุรับรู้การรับรูป,ธาตุรับรู้การรับเสียง,ธาตุรับรู้การรับรส,ธาตุรับรู้ การรับสัมผัส,ธาตุรับรู้การรับรู้อารมณ์ทางใจ รวมเป็นธาตุประมวลผลอีก ๖

เรา จะเห็นว่า ในธาตุธรรมละเอียดเหล่านี้ ยังมีเห็น จำ คิด รู้ เจืออยู่ด้วยทุกๆดวง เพราะเหตุนี้ ธาตุธรรมทั้งหลายเหล่านี้ แม้จะทำหน้าที่ต่างๆกัน แต่ก็สัมพันธ์กันเป็นอัตโนมัติ ฉะนั้น เมื่อมีอะไรมากระทบ ก็จะกระเทือนไปถึง"ใจ"อันประกอบด้วยเห็น จำ คิด รู้ เป็นต้นว่า เมื่อจิตคิดไปถึงสิ่งที่น่ากำหนัดยินดี และไปยึดมั่นถือมั่น แม้ว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย จะยังมิได้สัมผัสรูป เสียง กลิ้น รส สัมผัส อารมณ์กำหนัดยินดีก็ไม่กระเทือนถึงแต่เฉพาะ"ใจ"เท่านั้น หากแต่จะกระเทือนถึงกายด้วย ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่า "ดวงเห็น" ซึ่งทำหน้าที่รับและเสวยอารมณ์อันเป็นเปลือกนอกของ "ใจ"ทำหน้าที่เป็น "ดวงกาย"ซึ่งขยายส่วนหยาบ เจริญเติบโตออกมาเป็นกาย ซึ่งเป็นที่อาศัยและยึดเกาะของ"ใจ"นั่นเองอีกด้วย

และเนื่อง จาก"ใจ"ตั้งอยู่อาศัยกับขันธ์ ๕ ทั้งในส่วนที่เป็นธาตุธรรมละเอียด และส่วนหยาบ มีอุปาทานยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ เพราะความไม่รู้แจ้ง หรือ "อวิชชา"ครอบคลุมอยู่ เมื่อมีสิ่งหนึ่งอันจะก่อให้เกิดอารมณ์มากระทบส่วนใดส่วนหนึ่งของขันธ์ ๕ นี้ ก็จะรู้สึกสุข ทุกข์ เฉยๆ(อทุกขมสุขเวทนา หรือ ไม่สุข ไม่ทุกข์) โดยจะแสดงออกทางดวงเห็น ดวงจำ ดวงคิด ดวงรู้นี้เอง กล่าวคือ เวลาที่เป็นสุข ก็จะเห็นเป็นใสๆ เวลาทุกข์ ก็จะเห็นเป็นมัวๆขุ่นๆ ถ้าเวลาเฉยๆ ก็จะไม่ใส ไม่ขุ่น กลางๆ


การพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา สติพิจารณาเวทนาขันธ์อยู่เนืองๆ มี ๙ บรรพด้วยกัน คือ

๑. เมื่อรู้รสสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า บัดนี้เรารู้ชัดซึ่งสุขเวทนา
๒. เมื่อรู้รสทุกขเวทนา ก็รู้ชัดว่า บัดนี้เรารู้ชัดซึ่งทุกขเวทนา
๓. เมื่อรู้รสอทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า บัดนี้เรารู้ชัดซึ่งอทุกขมสุขเวทนา (เสวยอารมณ์ไม่ทุกข์ ไม่สุข)
๔. เมื่อรู้รสสามิสสสุขเวทนา(สุขอันเจือด้วยอามิส) ก็รู้ชัดว่า บัดนี้เรารู้ชัดซึ่งสุขเวทนาอันมีอามิส
๕. เมื่อรู้รสสามิสสทุกขเวทนา(ทุกข์อันเจือด้วยอามิส) ก็รู้ชัดว่า บัดนี้เรารู้ชัดซึ่งทุกขเวทนาอันมีอามิส
๖. เมื่อรู้รสสามิสสทุกขมสุขเวทนา(ไม่ทุกข์ ไม่สุขอันเจือด้วยอามิส) ก็รู้ชัดว่า บัดนี้เรารู้ชัดซึ่งทุกขมสุขเวทนาอันมีอามิส
๗. เมื่อรู้รสนิรามิสสสุขเวทนา(สุขอันปราศจากอามิส) ก็รู้ชัดว่า บัดนี้เรารู้ชัดซึ่งสุขเวทนาอันไม่มีอามิส
๘. เมื่อรู้รสนิรามิสสทุกขเวทนา(ทุกข์อันปราศจากอามิส) ก็รู้ชัดว่า บัดนี้เรารู้ชัดซึ่งทุกขเวทนาอันไม่มีอามิส
๙. เมื่อรู้รสนิรามิสสทุกขมสุขเวทนา(ไม่ทุกข์ ไม่สุขอันปราศจากอามิส) ก็รู้ชัดว่า บัดนี้เรารู้ชัดซึ่งทุกขมสุขเวทนาอันไม่มีอามิส

อามิส แปลว่า เครื่องล่อใจ ดังนั้น เรียกว่า สุขเวทนาที่เจือด้วยกามคุณ(เกิดจากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส) ทุกขเวทนาที่เจือด้วยกามคุณ ฯลฯ
ส่วน สุขเวทนาที่เกิดขึ้น ด้วยสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนาก็ดี ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นจากสภาพแห่งสังขารก็ดี และทุกขมสุขเวทนาซึ่งเกิดมีความสงบจากอารมณ์ของ สมถะหรือวิปัสสนาก็ดี จัดว่าเป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา ทุกขมสุขเวทนาเวทนา ที่ไม่เจือด้วยอามิส

การเสวยเวทนาโดยมีอามิสหรือไม่ก็ตาม ย่อมเปลี่นแปลงแปรผันตามเหตุปัจจัยเสมอๆ อารมณ์ทั้งหลายเหล่านี้ หาได้จีรังไม่ ย่อมเกิดขึ้น และเสื่อมสลายไป เมื่อเห็นเป็นธรรมดาในความเกิดดับของเวทนาแล้ว แม้จะรู้ว่าเวทนามีอยู่ ก็จงระลึกได้ว่า "สักแต่เป็นเวทนา" หามีสาระแก่นสารให้ยึดถืออย่างใดไม่ ทำให้คลายความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์และ สิ่งที่จะก่อให้เกิดอารมณ์ทั้งหลายลง จิตใจก็เบิกบาน เพราะความหลงผิดสิ้นไป กิเลส ตัณหา อุปาทาน ก็ไม่สามารถที่จะเข้ามาย้อมหรือดลจิตให้เป็นไปตามอำนาจของมันได้ เมื่อเหตุแห่งทุกข์ดับ ทุกข์ก็ไม่เกิดขึ้น นี้คือทางแห่งมรรค ผล นิพพาน อันเป็นความว่างเปล่าจากกิเลส อาสวะทั้งปวง


วิธีพิจารณาระบบการทำงานของขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ เห็นเวทนาในเวทนา

      รวมใจของทุกกายหยุด ณ กลางกายธรรมอรหัตละเอียด แล้วเพ่งไปที่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ หยุด ตรึก นิ่ง ให้ดวงธรรมสว่างไสวทั่วทั้งกาย แล้วพิจารณาทวารทั้ง ๕ คือ จักขุทวาร(ตา) โสตทวาร(หู) ฆานทวาร(จมูก) ชิวหาทวาร(ลิ้น) กายทวาร โดยเริ่มที่ตาก่อน ตรงกลางแววตาทั้งซ้าย-ขวา พิจารณาให้ดีจะเห็น จักขุปสาท ซึ่งทำหน้าที่เป็นจักขุอายตนะ สำหรับรับรูป มีสัณฐานกลมสะอาด ตั้งอยู่ตรงกลางแววตา ตรงกลางจักขุปสาทก็มี จักขุธาตุ ซึ่งละเอียดกว่า ซ้อนอยู่ข้างใน สำหรับเห็นรูป แล้วที่กลางจักขุธาตุก็มี จักขุวิญญาณธาตุ ละเอียดกว่าจักขุธาตุ ซ้อนอยู่อีก สำหรับรู้ว่าเห็นรูปอะไร และมีสายเล็กๆขาวใส บริสุทธิ์ ทอดออกไปจากตรงกลางแววตาทั้งสองข้าง ผ่านขึ้นไปสมอง ศีรษะ แล้วหยั่งไปในเยื่อพื้นหลัง ลงไปรวมจรดอยู่ที่กลางขันธ์ ๕ ตรงกำเนิดธาตุธรรมเดิม

อะไรทำให้เห็น?

เวลา ที่จักขุอายตนะ กับ รูปายตนะ กระทบกัน (เมื่อสายตากระทบรูป) ก็จะมีดวงใส คือส่วนละเอียดของจักขุอายตนะ ซึ่งจะมีจักขุธาตุ จักขุวิญญาณธาตุซ้อนอยู่ แล่นจากศูนย์กลางขันธ์ ๕ ที่ตรงกลางกำเนิดเดิม ขึ้นมาตามสาย ผ่านสมอง มาจรดที่จักขุปสาท ที่ตรงกลางแววตาทั้งซ้ายขวา ซึ่งทำหน้าที่รับรูป แล้วนำรูปนั้นแล่นผ่านสมอง ตามสายกลับมาที่กลางขันธ์ ๕ ตรงกำเนิดธาตุธรรมเดิม เป็นไปอย่างรวดเร็วมากการเห็นรูปก็เกิดขึ้นตั้งแต่ดวงกลมขาวใส มาจรดที่กลางจักขุปสาท ที่กลางแววตา เพราะที่กลางจักขุปสาทก็มีจักขุธาตุสำหรับเห็นรูป และมีจักขุวิญญาณธาตุ สำหรับรับรู้ว่าเป็นรูปอะไร ซ้อนอยู่ด้วยแล้ว และการเห็นนี้ ไม่เฉพาะแต่ที่ตรงกลางแววตาเท่านั้น หากแต่เห็นไปถึง"ใจ" อันประกอบด้วย เห็น จำ คิด รู้ เป็นอัตโนมัติ เพราะเหตุที่ดวงกลมใสที่แล่นขึ้นมารับรูปจากตา กลับไปสู่กลางขันธ์ ๕ ที่กำเนิดธาตุธรรมเดิม ก็คือธาตุธรรมละเอียดของจักขุอายตนะ ซึ่งทำหน้าที่รับรูป และจักขุธาตุซึ่งทำหน้าที่เห็นรูป และจักขุวิญญาณธาตุที่ทำหน้าที่รับรู้ว่ารูปอะไร มีลักษณะ สี สัณฐานอย่างไร ซ้อนอยู่ด้วยอีกเช่นกัน

และนอกจากนี้ ในธาตุธรรมละเอียดเหล่านี้ ก็ยังมี ดวงเห็น ดวงจำ ดวงคิด ดวงรู้ เจืออยู่ด้วยทุกดวง จึงทำหน้าที่เกี่ยวเนื่องกันโดยตลอดเป็นอัตโนมัติ เพราะเมื่อตากระทบรูปนั้น รูปธาตุย่อมผ่านเห็น จำ คิด รู้เสมอ

อนึ่ง ดวงรู้ของสัตว์ที่ยังไม่บรรลุโลกุตตรธรรมนั้นมี อวิชชานุสัย ห่อหุ้มหนาแน่น ส่วนดวงเห็นกับดวงจำก็มี ปฏิฆานุสัย ห่อหุ้มอยู่ และดวงคิดก็มี กามราคานุสัย ห่อหุ้มอยู่ จึงไม่ขยายโตเต็มส่วนเหมือนกายธรรม (จึงทำให้ทัสสนะไม่บริสุทธิ์เหมือนกายธรรม)

เพราะฉะนั้น เวลาที่สายตากระทบรูป ถ้าเป็นรูปที่ถูกอารมณ์น่ายินดี เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในสภาวะจริงของธรรมชาติตามที่เป็นจริง ซึ่งกล่าวโดยย่อว่า อวิชชา จิตใจจึงมักเลื่อนลอยตามอารมณ์นั้น ทำให้รู้สึกเป็นสุขตา-สุขใจไปตามอารมณ์ที่น่าพอใจนั้น เรียกว่าเกิด สุขเวทนา หรือ โสมนัสเวทนา ในกรณีเช่นนี้ ก็จะเห็น"ใจ"มีลักษณะใส

แต่ ถ้าเป็นรูปที่ไม่น่าพอใจ และปล่อยใจคล้อยไปตามอารมณ์ที่ว่านั้น ก็จะเกิดความไม่สบายตา-ไม่สบายใจ หรือที่เรียกว่าเป็นทุกขเวทนาหรือโทมนัสเวทนา ในกรณีเช่นนี้ก็จะเห็น"ใจ"มีลักษณะขุ่นมัว

ทีนี้ ถ้าหากจิตใจไม่ได้รับการอบรมให้สงบ ให้หยุด ให้นิ่ง ปล่อยใจให้เคลิบเคลิ้มไปในอารมณ์ต่างๆนี้มากๆเข้า กิเลสที่สะสมหมักดองอยู่ในจิตใจ ได้แก่ กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย ก็จะฟุ้งขึ้นมาครอบคลุมจิตใจย้อมจิตย้อมใจให้เป็นไปตามสภาพของมัน ด้วยเหตุนี้ สีน้ำเลี้ยงของจิตซึ่งถูกเจือด้วยกิเลสนั้น เปลี่ยนสีจากที่เคยขาว ใส สะอาด เป็นสีต่างๆตามสภาพกิเลสที่จรมาผสม เป็นต้นว่าจิตที่ประกอบด้วยกามตัณหา และภวตัณหา หรือรวมเรียกว่า โลภะ-ราคะ ก็จะเห็นเป็นสีชมพู จนถึงเกือบแดง, จิตที่ระคนด้วยวิภวตัณหา หรือโทสะ ก็จะเป็นสีเขียวคล้ำ จนเกือบดำ, และจิตที่ระคนด้วยโมหะ ก็จะเห็นเป็นสีขุ่นเหมือนตม หรือเกือบเทา เป็นต้น

นอกจากนี้ อาการที่จิตฟุ้งออกไปรับอารมณ์ภายนอกมากเพียงใด ก็จะเห็นจิต คือ ดวงคิดลอยอยู่เหนือน้ำเลี้ยงหทยรูปมากขึ้นเพียงนั้น การเห็นลักษณะของใจตนเองที่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ก็ดี โดยจะเห็นดวงใสหรือขุ่นหรือปานกลางนั้น เรียกว่า เห็นเวทนาในเวทนา เป็นภายใน แต่ถ้าเห็นเวทนาของผู้อื่น ก็เรียกว่า เห็นเวทนาในเวทนา เป็นภายนอก ซึ่งเป็นลักษณะของการเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ส่วน การเห็นสภาวะของจิตของตนว่าระคนด้วยกิเลส โดยเห็นสีน้ำเลี้ยงที่เปลี่ยนไปตามสภาวะกิเลสที่เข้ามาผสมก็ดี หรือเห็นว่าจิตฟุ้งซ่าน หรือสงบ โดยอาการลอยของจิตในเบาะน้ำเลี้ยงหทยรูปในลักษณะต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วก็ดี เรียกว่า เห็นจิตในจิต เป็นภายใน และถ้าเห็นสภาวะจิตของผู้อื่น ก็เรียกว่า เห็นจิตในจิต เป็นภายนอก ซึ่งเป็นลักษณะของการเจริญจิตตานุปัสสนสติปัฏฐาน

การเจริญภาวนาตามแนววิชชาธรรมกาย ช่วยให้ผู้ปฏิบัติสามารถเจริญปัญญา จากการที่ได้ทั้งรู้และทั้งเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิตเป็นทั้งภายในและภายนอก ดังนี้จึงควรที่สาธุชนจะพึงเจริญให้มาก

ในลำดับนี้ จะได้แนะนำวิธีพิจารณาที่โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร และมโนทวารต่อไป

สำหรับ ผู้ถึงธรรมกายแล้ว ให้รวมใจของทุกกายให้หยุดอยู่ ณ ศูนย์กลางกายธรรมอรหัตละเอียด แล้วให้ญาณพระธรรมกายเพ่งลงไปที่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ หยุดในหยุด ตรึกในตรึก นิ่งในนิ่ง ให้ดวงธรรมนั้นใสสว่าง ขยายโตขึ้นจนเห็นใสสว่างหมดทั้งกาย แล้วเริ่มพิจารณาที่โสตทวาร(หู)ก่อน

ที่ตรงกลางแก้วหูทั้งซ้ายและขวานั้น จะเห็นมี"โสตปสาท" ซึ่งทำหน้าที่เป็น "โสตายตนะ" คือ อายตนะหู สำหรับรับเสียง มีลักษณะสัณฐานกลมใส สะอาดบริสุทธิ์ ประมาณเท่าขนจามรี ขดเป็นวงซ้อนกันอยู่ ๗ ชั้น ตั้งอยู่ที่ตรงกลางแก้วหูทั้งสองข้าง ตรงกลางโสตประสาทก็มี "โสตธาตุ" ซึ่งละเอียดกว่า เล็กกว่า ซ้อนอยู่ข้างใน สำหรับฟังเสียง และในกลางโสตธาตุ ก็มี "โสตวิญญาณธาตุ" ซึ่งใสกว่า เล็กกว่าโสตธาตุ ซ้อนอยู่ภายในเข้าไปอีก สำหรับให้รู้ว่าเป็นเสียงอะไร แลมีสายใยสีขาว ใส ทอดออกไปจากโสตประสาททั้งซ้ายขวา ผ่านขึ้นไปบนสมองศีรษะ แล้วหยั่งลงไปภายในเยื่อพื้นข้างหลัง ไปรวมจรดอยู่ที่ตรงกลางของขันธ์ ๕ ที่กำเนิดธาตุธรรมเดิม

ทำหน้าที่ได้ยินเสียง ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับการหน้าที่มองเห็นของอายตนะตา กล่าวคือ เมื่อเสียงมากระทบประสาทหูซึ่งทำหน้าที่เป็นโสตายตนะนั้น จะมีดวงกลมขาว ใส คือธาตุละเอียดของโสตายตนะ ซึ่งมีโสตธาตุ และโสตวิญญาณธาตุซ้อนอยู่ แล่นจากศูนย์กลางขันธ์ ๕ ที่ตรงกลางกำเนิดธาตุธรมเดิม ขึ้นมาตามสายสีขาวบริสุทธิ์ มาจรดที่โสตประสาทตรงกลางแก้วหูซ้ายขวาซึ่งทำหน้าที่รับเสียง แล้วนำเสียงนั้นแล่นกลับไปที่กลางขันธ์ ๕ กลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม เพื่อทำหน้าที่ต่อไป

ทีนี้ให้พิจารณาต่อไปที่ขื่อจมูกข้างในทั้งซ้ายและขวา จะเห็น"ฆานปสาท" ซึ่งทำหน้าที่เป็น "ฆานายตนะ"ทำ หน้าที่รับกลิ่น มีลักษณะสัณฐานเหมือนกีบกวางหรือปีกริ้น ใสสะอาดบริสุทธิ์ ตั้งอยู่ตรงกลางขื่อจมูกข้างในทั้งซ้ายและขวา แล้วตรงกลางประสาทจมูก ก็มี "ฆานธาตุ" ซึ่งใสสะอาดบริสุทธิ์ และเล็กกว่าประสาทจมูก สำหรับทำหน้าที่ดมกลิ่น และที่ตรงกลางฆานธาตุก็มี "ฆานวิญญาณธาตุ" ซึ่งมีลักษณะสัณฐานอย่างเดียวกัน แต่ใส สะอาด และเล็กกว่าฆานธาตุ สำหรับทำหน้าที่รู้ว่าคุณสมบัติกลิ่นเป็นอย่างไร และมีสายใยสีขาวทอดออกจากตรงกลางฆานปสาททั้งสองข้าง ผ่านขึ้นไปบนสมองศีรษะ แล้วหยั่งลงภายในพื้นเยื่อพังผืดข้างหลัง ไปรวมจรดอยู่ที่กลางขันธ์ ๕ ตรงกำเนิดธาตุธรรมเดิม

แล้วต่อไปก็ให้พิจารณาที่ลิ้น จะเห็น"ชิวหาปสาท" กระจายอยู่ทั่วลิ้น มีลักษณะสัณฐานเหมือนดอกบัวหรือกลีบบัว ขาวใส ทำหน้าที่เป็น "ชิวหายตนะ"สำหรับทำหน้าที่รับรส และตรงกลางชิวหาปสาทก็มี "ชิวหาธาตุ"ซึ่งมีลักษณะสัณฐานเดียวกัน แต่ใสสะอาด และเล็กกว่าชิวหาปสาท ซ้อนอยู่ภายในเข้าไป สำหรับทำหน้าที่ลิ้มรส แล้วก็ตรงกลางชิวหาธาตุก็มี "ชิวหาวิญญาณธาตุ" ซึ่งใสสะอาด และเล็กกว่าชิวหาธาตุ ซ้อนอยู่ภายในเข้าไปอีก สำหรับทำหน้าที่รู้คุณสมบัติรส แล้วก็มีสายใยสีขาว ใสสะอาด ทอดออกไปจากตรงกลางชิวหาปสาททั้งหลาย ผ่านขึ้นไปบนสมองศีรษะ แล้วหยั่งลงไปภายในเยื่อพังผืดพื้นหลัง แล้วไปจรดอยู่ที่กลางขันธ์ ๕ ที่กำเนิดธาตุธรรมเดิม

ทีนี้ให้พิจารณาดูหมดทั่วสรรพางค์กาย จะเห็น"กายปสาท" มีลักษณะสัณฐานเหมือนดอกบัว ขาว ใส สะอาด ตั้งอยู่ทั่วทั้งกาย ทุกขุมขนทีเดียว ทำหน้าที่เป็น "กายายตนะ" ทำหน้าที่รับสัมผัส และตรงกลางกายปสาททั้งหลาย ก็มี "กายธาตุ"ซึ่งมีลักษณะสัณฐานเดียวกัน แต่เล็กกว่า ใสสะอาดกว่ากายปสาท สำหรับทำหน้าที่สัมผัสสิ่งที่มาถูกต้องทางกาย และมี "กายวิญญาณธาตุ" ซึ่งมีลักษณะสัณฐานนเดียวกัน แต่ใสสะอาด และเล็กกว่ากายธาตุ ซ้อนอยู่ชั้นในเข้าไปอีก สำหรับทำหน้าที่รู้คุณสมบัติสิ่งที่มาสัมผัสถูกต้องทางกาย ว่าเย็น ร้อน อ่อน แข็งอย่างไร แล้วก็มีสายใยสีขาวใส ทอดออกไปจากกายปสาททั่วทั้งกาย ขึ้นไปสู่สมองศีรษะ แล้วไปรวมจรดที่ขันธ์ ๕ ตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม

ที่ตรงกลางหทยรูป(ไม่ใช่มังสหทยรูป แต่เป็นของละเอียด) หรือที่เรียกว่ามโนทวาร ก็มี "มนายตนะ" มีลักษณะสัณฐานเป็นดวงกลมใส ขนาดประมาณเท่าเมล็ดโพธิ์เมล็ดไทร ซึ่งทำหน้าที่น้อมไปสู่อารมณ์ และที่ตรงกลางมโนทวารนี้เองเป็นที่ตั้งของ "มโนธาตุ" มีลักษณะสัณฐานกลมใสยิ่งกว่า เล็กกว่ามนายตนะ ซ้อนอยู่ข้างใน สำหรับรู้ธรรมารมณ์ที่มากระทบใจ และตรงกลางมโนธาตุ ก็มี "มโนวิญญาณธาตุ" ซึ่งใส สะอาดกว่า และเล็กละเอียดกว่ามโนธาตุ ซ้อนอยู่ข้างในเข้าไปอีก สำหรับรู้คุณสมบัติอารมณ์ที่มากระทบ และมีสายใยสีขาวใสหยั่งลงไปจรดรวมอยู่ที่กลางขันธ์ ๕ ตรงกำเนิดธาตุธรรมเดิม แต่สายของมนายตนะนี้ ไม่ผ่านขึ้นสู่สมองศีรษะเหมือน ๕ สายข้างต้น

การรู้กลิ่น รู้รส รู้การสัมผัสทางกาย และรู้อารมณ์ที่ผ่านเข้ามาทางใจ ก็เป็นลักษณะเดียวกันกับการเห็นรูป หรือ ได้ยินเสียง ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และสิ่งที่จะก่อให้เกิดอารมณ์จากภายนอกที่มากระทบนั้น เป็นสิ่งที่น่าพอใจ ยินดี ก็จะรู้สึกเป็นสุข เรียกว่า "เสวยสุขเวทนา" และในกรณีเช่นนี้ ก็จะเห็น "ใจ" มีลักษณะใส แต่ถ้าอายตนะภายนอกที่มากระทบทวารทั้งหลายเหล่านี้ ไม่เป็นที่น่าพอใจ ยินดี ก็เป็นทุกข์ใจ เรียกว่า "เสวยทุกขเวทนา" ในกรณีเช่นนี้ ก็จะเห็น "ใจ" ทั้งดวงมีลักษณะขุ่นมัว

ทีนี้ถ้าหากไม่รู้เท่าทันในสภาวะจริงตามธรรมชาติของเวทนา ไม่รู้ข้อดี ข้อเสียของเวทนา และไม่รู้ทางออกจากเวทนาทั้งหลายเหล่านั้น แล้วปล่อยให้จิตใจเลื่อนลอยไปตามอารมณ์ จนถึงกับต้องสยบอยู่ในอารมณ์ที่น่ารัก น่ายินดี หรือจนถึงกับเคียดแค้น ชิงชังในอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจยินดี กิเลสอนุสัยต่างๆ เป็นต้นว่า กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย ก็จะฟุ้งขึ้นมาครอบคลุมจิตใจดลจิตดลใจให้ปฏิบัติตามอำนาจของมัน อันเป็นทางให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนตามมาได้

แต่ถ้ารู้เท่าทันในสภาวะของเวทนาตามที่เป็นจริง ว่าอยู่ในอาณัติแห่งไตรลักษณ์ และรู้เท่าทันเวทนาว่า ถ้าปล่อยจิตใจให้เลื่อนลอยตามอารมณ์ที่มากระทบแล้ว ก็จะเป็นทางให้กิเลส ตัณหา อุปาทานเข้ามาครอบคลุมจิตใจ ดลจิตดลใจให้ปฏิบัติตามอำนาจของมันได้แล้ว ก็รู้วิธีออกจากเวทนานั้นๆ โดยรวมใจหยุดในหยุด กลางของหยุดในหยุด ให้ละเอียดหนักเข้าไป ไม่ถอยหลังกลับ เมื่อใจไม่น้อมไปสู่อารมณ์และหยุดในหยุด กลางของหยุดในหยุดหนัก เข้าไป(หยุดปรุงแต่ง ส่งจิตส่งใจไปตามอารมณ์) ก็พ้นอำนาจของอนุสัยที่เคยนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน กิเลส ตัณหา อุปาทานก็ไม่มีทางที่จะเข้ามาย้อมจิตย้อมใจ ทุกข์จะมีมาแต่ไหน จิตใจก็กลับใส สะอาด ปราศจากเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง เป็นสุขจากความสงบรำงับด้วยประการฉะนี้แล

นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ - สุขอื่นยิ่งกว่า กาย วาจา และใจ สงบ ไม่มีอีกแล้ว
จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ - จิตที่ฝึกแล้ว นำสุขมาให้



จงพิจารณาให้เห็นสภาวะจริงของเวทนาที่เป็นจริงต่อไปอีกว่า เวทนานั้นเกิดแต่จิต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของใจอันมีอวิชชา ความไม่รู้สภาวะจริงนั้นเอง ทำหน้าที่ปรุงแต่งอารมณ์ เรียกว่า จิตสังขาร อันเป็นเหตุให้เกิดการรับรู้อารมณ์จากภายนอกที่สัมผัสกับทวารต่างๆ ทั้ง ๖ ทวาร แล้วจิตนั้นเองก็เสวยอารมณ์สุข ทุกข์ หรืออทุกขมสุขเวทนา แล้วแต่กรณี

เมื่อพิจารณาถึงเหตุที่เกิดเวทนาทั้งหลาย นับตั้งแต่อวิชชาเอง ก็ไม่เที่ยง มีการเกิดดับไปพร้อมกับจิต ซึ่งไม่เที่ยงอีกเช่นเดียวกัน ทั้งอวิชชาและจิต จึงต่างก็หามีตัวตนแท้จริงไม่ ต่างก็เป็นอนัตตา ด้วยกันทั้งสิ้น นี้ข้อหนึ่ง

อาการปรุงแต่งอารมณ์ของจิต นั้นอีกเล่า ก็ไม่เที่ยง มีเปลี่ยนแปลง แปรผันอยู่เสมอ, วันนี้เห็นบุคคล รูปร่างอย่างนี้ แต่งกายอย่างนี้ มีกิริยาอาการอย่างนี้ว่า น่ารัก น่าพอใจ แต่พอภายหลัง กลับไม่ชอบ ไม่ยินดี หรือขัดหูขัดตาไปก็มี ดังนี้เป็นต้น มันไม่เที่ยงอย่างนี้ หากยึดถือก็เป็นทุกข์ เพราะไม่มีแก่นสารให้ยึดถือ อาการปรุงแต่งของจิตจึงเป็นอนัตตา นี้ก็อีกข้อหนึ่ง

ทวารต่างๆ หรือ อายตนะภายใน ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กับสิ่งที่จะก่อให้เกิดอารมณ์ คือ อายตนะภายนอกเอง ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสกาย และอารมณ์ทางใจ ก็ไม่เที่ยงอีกเหมือนกัน รวมตลอดทั้งสิ่งที่จะก่อให้เกิดอารมณ์จากภายนอกในรูปอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โลกธรรม ๘ ประการ ไม่ว่าจะเจือด้วยอามิสหรือไม่ก็ตาม เป็นต้นว่า การเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือการได้กำเนิด เสวยวิบากกรรมจากผลบุญ-บาปในภพภูมิใหม่ใดๆก็ตาม ก็ล้วนแต่ไม่เที่ยงทั้งสิ้น มีเปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัยนเสมอ ผู้ใดยึดถือก็เป็นทุกข์ เพราะต่างก็ไม่มีแก่นสารตัวตนให้ยึดถือได้ตลอดไป มีเกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมสลายดับสิ้นไปเป็นธรรมดา นี้เป็น อนัตตา อีกข้อหนึ่ง

ก็เมื่อเหตุ-ปัจจัยที่เกิดของเวทนา และสิ่งที่เกี่ยวเนื่องด้วยเวทนาทั้งหลายต่างก็ไม่เที่ยง เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัย ผู้ใดยึดถือก็เป็นทุกข์เพราะไม่มีตัวตนให้ยึดถือได้ จึงเป็นอนัตตาไปหมด ดังนี้แล้ว เวทนาเองก็จึงหาได้มีแก่นสารแต่ประการใดไม่ อีกเช่นกัน มีเกิดดับเป็นธรรมดา หากผู้ใดยึดมั่นถือมั่นในเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีตก็ได้ อนาคตก็ดี ปัจจุบันก็ดี ภายในก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี มีในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี, ด้วยความเห็นผิดว่าเป็นของเรา หรือว่า เราเป็นตัวเวทนา เวทนามีในตัวเรา หรือตัวเรามีในเวทนา ซึ่งเรียกว่า สักกายทิฏฐิ ๔ แล้วย่อมเป็นเหตุแห่งความทุกข์ เพราะสภาวะจริงของเวทนานั้น ก็สักแต่เป็นเวทนา หาใช่เป็นของผู้ใดไม่ เป็นอนัตตาแท้ๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น